ที่มาของเรี่อง อิเหนา เป็นบทละคร พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดแห่งกลอนบทละคร ในการทรงพระราชนิพนธ์นั้นตอนที่ไม่ทรงพระราชนิพนธ์เอง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กวีในราชสำนักรับไปแต่งคนละตอน เสร็จแล้วนำมาอ่านถวายหน้าพระที่นั่ง เพื่อให้ที่ประชุมกวีพิจารณาแก้ไขร่วมกัน
นอกจากนี้ยังพระราชทานต้นฉบับให้ผู้เชี่ยวชาญทางนาฏศิลป์นำไปลองซ้อมประดิษฐ์ท่ารำให้เข้ากับบทพระรานิพนธ์ บทใดรำขัดเขินก็ทรงแก้ไขให้เข้ากับกระบวนการรำ พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้จึงมีความสมบูรณ์ดีเด่นทั้งใจความ กระบวนกลอน และกระบวนสำหรับเล่นละคร มีความไพเราะสะเทือนอารมณ์และก่อให้เกิดจินตนาการอันลึกซึ้ง ถึงแม้มิได้แสดงคติทางโลกและทางธรรมโดยตรงแต่แฝงความจริงของชีวิตไว้หลายมุม นอกจากนี้ยังสะท้อนให้สภาพสังคมบางประการสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่นำมาเป็นบทเรียนนี้ แทรกความรู้เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างเมือง การจัดทัพ การตั้งค่าย การรบและการต่อสู้ระหว่างแม่ทัพนายกองต่อตัว
เรื่องอิเหนามีต้นเค้ามาจากชวา ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย เรื่องอิเหนาเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ชวา กล่าวถึงพระเจ้าไอรลังคะ กษัตริย์ชวา มีความเข้มแข็ง สามารถครองเมืองนครตาฮา ราว พ.ศ.๑๕๖๒ ก่อนสิ้นพระชนม์ได้แบ่งอาณาจักรออกเป็น ๒ แคว้น ผู้ปกครองแคว้นหนึ่งมีราชโอรสชื่อ อิเหนา ผู้ปกครองแคว้นหนึ่งมีธิดาชื่อ บุษบา ต่อมาอิเหนาและบุษบาได้สมรสกัน แคว้นทั้ง ๒ จึงกลับมารวมกันเช่นเดิม อิเหนามีอนุภาพมาก ได้ปราบปรามแคว้นต่างๆ มากมายไว้ในอำนาจ เชื้อวงศ์ของอิเหนา ซึ่งครองราชย์ต่อมาเกิดการชิงอำนาจ อาณาจักรแตกแยก และเสื่อมอำนาจลง ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐ อาณาจักรชวาตกเป็นของอินเดียแล้วเปลี่ยนเป็นโปรตุเกสและฮอลันดา จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประชาชนในหมู่เกาะอินโดนีเซียจึงได้รับเอกราชตั้งประเทศอินโดนีเซียจึงได้รับเอกราชตั้งประเทศอินโดนีเซียขึ้น